เมื่อไม่นานมานี้ไอบีเอ็มได้เปิดเผยรายงานประจำปี "เน็กซ์ 5 อิน 5" (Next 5 in 5) ฉบับที่ 4 ซึ่งมีการคาดการณ์นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5 สิ่ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นและมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จากการวิเคราะห์เทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการ ประกอบกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
1. "โมเดลคณิตศาสตร์" ช่วยโลกรับมือโรคระบาด ในแต่ละปีมีประชากรราว 60 ล้านคน ย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ และในปี 52 มีการประเมินพบว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท ส่งผลให้เมืองใหญ่กลายเป็นแหล่งเพาะและแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย ฉะนั้นจะต้องมีระบบป้องกันและการสื่อสารด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับชาวเมือง ไอบีเอ็มคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์จะมีบทบาทในด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น ในการหาแนวโน้มรูปแบบการระบาดของโรคว่าจะเกิดการระบาดขึ้นบริเวณไหน เวลาใดบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและเตรียมการรับมือเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด และการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีรวมทั้งมี "อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ" ที่จะเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ระหว่างชุมชน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเวชภัณฑ์ได้อย่างทั่วถึง เกิดเป็นระบบสาธารณสุขที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพ สามารถคาดการณ์รูปแบบการระบาดของโรค ศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำในอนาคต
อีกไม่นานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเข้ามายึดพื้นที่บนถนนแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน (ภาพโดย ไอบีเอ็ม)
2. "รถพลังไฟฟ้า" มาแน่นอน
ทุกวันนี้เริ่มมีรถยนต์ไฮบริดออกมาวิ่งตามท้องถนนบ้างแล้ว แต่เพราะยังเป็นนวัตกรรมใหม่ รถยนต์ไฮบริดจึงยังมีราคาแพงระยับเหยียบคันละหลายล้านบาท ทว่าผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้รถยนต์ไฮบริดซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมาก จะมีราคาถูกลงอย่างแน่นอน และจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ
สำหรับรถยนต์ไฮบริดในปัจจุบัน ใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออน ซึ่งยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังมุ่งมั่นพัฒนาแบตเตอรี่ขับเคลื่อนรถยนต์และรถประจำทางที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถทำให้รถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมแอร์ (Lithium Air) ซึ่งสามารถเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานได้มากกว่าลิเธียมไอออนถึง 10 เท่า ทั้งยังมีน้ำหนักเบา ปลอดภัยกว่า และราคาถูกกว่า และในอนาคตรถยนต์ที่เรานั่งอาจไม่ต้องแวะเติมน้ำมันตามปั๊มอีกต่อไป เพราะเพียงชาร์จไฟใส่แบตเตอรี่จากที่บ้าน ก็ขับรถไปเที่ยวที่ไหนๆ ได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร
ผู้เชี่ยวชาญไอบีเอ็มยังคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนอื่นๆ ก็จะถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยเช่นกัน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รองรับระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวล้ำและแพร่หลายมากขึ้นด้วย
ทุกวันนี้เริ่มมีรถยนต์ไฮบริดออกมาวิ่งตามท้องถนนบ้างแล้ว แต่เพราะยังเป็นนวัตกรรมใหม่ รถยนต์ไฮบริดจึงยังมีราคาแพงระยับเหยียบคันละหลายล้านบาท ทว่าผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้รถยนต์ไฮบริดซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมาก จะมีราคาถูกลงอย่างแน่นอน และจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ
สำหรับรถยนต์ไฮบริดในปัจจุบัน ใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออน ซึ่งยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังมุ่งมั่นพัฒนาแบตเตอรี่ขับเคลื่อนรถยนต์และรถประจำทางที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถทำให้รถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมแอร์ (Lithium Air) ซึ่งสามารถเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานได้มากกว่าลิเธียมไอออนถึง 10 เท่า ทั้งยังมีน้ำหนักเบา ปลอดภัยกว่า และราคาถูกกว่า และในอนาคตรถยนต์ที่เรานั่งอาจไม่ต้องแวะเติมน้ำมันตามปั๊มอีกต่อไป เพราะเพียงชาร์จไฟใส่แบตเตอรี่จากที่บ้าน ก็ขับรถไปเที่ยวที่ไหนๆ ได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร
ผู้เชี่ยวชาญไอบีเอ็มยังคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนอื่นๆ ก็จะถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยเช่นกัน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รองรับระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวล้ำและแพร่หลายมากขึ้นด้วย
ต่อไปตึกสูงและอาคารใหม่จะถูกติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้มากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการให้ผู้ใช้งานอย่างเป็นระบบ และลดการใช้พลังงาน (ภาพโดย ไอบีเอ็ม)
3. "อาคารอัจฉริยะ" ตอบสนองทุกความต้องการของชีวิตคนเมือง
ตึกสูงระฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองใหญ่ และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ขณะที่ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มใช้ชีวิตอยู่ในอาคารสูงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน หรือเป็นที่พักอาศัย และในแต่ละปีอาคารเหล่านี้ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมารวมแล้วมากกว่ารถยนต์บนท้องถนนเสียอีก
ในอนาคตอันใกล้นี้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอาคาร เพื่อเชื่อมโยงระบบต่างๆ ภายในอาคาร ทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา อุณหภูมิ โทรคมนาคม และระบบรักษาความปลอดภัย โดยจะเชื่อมโยงกันและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และปลอดภัยยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้เข้าพักได้ราวกับมีชีวิต และด้วยระบบอัจฉริยะภายในอาคาร จะมีการเตือนล่วงหน้าด้วยว่าระบบหรืออุปกรณ์ชิ้นไหนควรได้รับการซ่อมบำรุงก่อนที่จะเกิดการชำรุดเสียหาย และยังตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
ตัวอย่างอาคารอัจฉริยะที่เริ่มมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน เช่น โรงแรมไชน่า หังโจว ดราก้อน ในประเทศจีน, อาคารเซเว่น เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ
เทคโนโลยีอัจฉริยะในอนาคตจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในเมืองใหญ่ได้ (ภาพโดย ไอบีเอ็ม)
4. เทคโนโลยีอัจฉริยะ ช่วยป้องกันปัญหาอาชญากรรมในเมือง
ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีขั้นสูงจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในเมืองให้น้อยลงได้ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมจากสถิติและแนวโน้มเพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าว่าพื้นที่ไหน เวลาใด เสี่ยงเกิดเหตุร้าย และช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ตรวจตราความสงบเรียบร้อย และป้องกันการก่ออาชญากรรมหรือรับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันและรับมือกับปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ก็จะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น ระบบดับเพลิงอัจฉริยะ ช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงจากอัคคีภัยในเมือง และรับมือกับปัญหาเพลิงไหม้หรือไฟป่า, ระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ ด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนบริเวณเขื่อนกันน้ำท่วม ตามแนวชายฝั่งทะเลและแม่น้ำลำคลอง เช่น ศูนย์จัดการน้ำระดับโลก (Global Center for Water Managment) ของไอบีเอ็ม ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ กำลังบุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ในตอนนี้
ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยให้มนุษย์บริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น (ภาพโดย ไอบีเอ็ม)
5. ระบบจัดการน้ำอย่างชาญฉลาด บรรเทาปัญหาน้ำขาดแคลน
ผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็มระบุว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้น้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากกว่านั้นหลายเท่าตัว และปัจจุบันนี้น้ำที่มีอยู่ทั่วโลกมีเพียง 2% เท่านั้นที่สามารถใช้อุปโภคและบริโภคได้ และความต้องการน้ำของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นอีก 6 เท่าในอีก 50 ปีข้างหน้า แต่ปัญหาขาดแคลนน้ำนั้นเป็นภัยคุกคามประชาชนแล้วหลายพื้นที่ โดยมีประชากรถึง 1 ใน 5 ของโลก เข้าไม่ถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย
นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามพัฒนาระบบอัจฉริยะที่ช่วยบริหารจัดการน้ำในเขตเมือง เพื่อลดการสิ้นเปลืองและสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับการรั่วไหลของท่อประปาและซ่อมแซมตัวเองได้อย่างอัตโนมัติ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีกรองน้ำที่สามารถเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด หรือกรองเสียให้กลายเป็นน้ำดี และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้
แนะไทยเร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ
นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป (ภาพโดย ไอบีเอ็ม)
นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งว่า เทคโนโลยีใหม่ 5 สิ่ง ที่กล่าวมานั้นมีแนวโน้มจะเป็นจริงได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าแน่นอน โดยมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี แต่จะเป็นที่แพร่หลายในสังคมได้หรือไม่นั้น ต้องอาศัยความพร้อมและปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเครื่องผลักดัน และทั้ง 5 นวัตกรรมอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในเมืองเดียวกัน แต่บางนวัตกรรมอาจเกิดขึ้นในบางเมืองก่อนเมืองอื่นๆ
"ระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นก่อนเทคโนโลยีอื่นสำหรับในประเทศไทย เพราะมีบริษัทรถยนต์หลายแห่งเริ่มนำรถยนต์ไฮบริดเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยกันแล้ว ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหามลพิษ และความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นสิ่งจูงใจและผลักดันให้ประชนชนหันมาพึ่งพายานพาหนะที่ไม่ใช้น้ำมันกันมากขึ้น" นายตรัยรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็มยังแนะด้วยว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงน่าจะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก่อนเทคโนโลยีอื่นๆ ในบรรดา 5 เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนมากของประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น